การรับรู้รายได้จากการขายสินค้าไปต่างประเทศ :
ปกติหลักการรัับรู้รายได้จากการขายสินค้าไปต่างประเทศจะรับรู้รายได้โดยยึดตาม B/L แต่ถ้าหากในกรณีนี้ลูกค้าได้โอนเงินมาชำระค่าสินค้าก่อนเมื่อวันที่ 21/6/2013 แต่กิจการทำการส่งของให้ลูกค้าในวันที่ 24/6/2013 อยากจะถามว่าจะต้องบันทึกรับรู้รายได้ในการขายสินค้าในวันไหนค่ะ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ใช้ของวันไหนค่ะ และจะต้องมีการบันทึกกำไรขาดทุนหรือป่าวค่ะ
คำตอบ:
กรณีนี้ได้รับเงินค่าสินค้าก่อนส่งออกสินค้า เงินส่วนนี้ก็ให้ถือเป็นเงินมัดจำในวันที่ได้รับเงิน เพราะความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออก เกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออกฯ คือ วันที่ในใบขนสินค้านั่นเอง
ทางภาษี รายงานภาษีขาย และการยื่นแบบ ภ.พ.30 ให้ใช้วันที่และราคา FOB ในใบขนสินค้า
ทางบัญชี ก็ต้องดูว่าบริษัทตกลงขายราคาไหน ระหว่าง FOB หรือ CIF (ราคา CIF ตามใบ Invoice)
ส่วนวันที่รับรู้รายได้ทางบัญชี
1. ถ้าขาย FOB ก็รับรู้ตามวันที่ในใบขนสินค้า ตรงกับทางภาษี
2. ถ้าขาย CIF ก็รับรู้ตามวันที่ๆสินค้าถึงปลายทางแล้ว ซึ่งจะต่างกับวันที่ทางภาษี ก็ไม่เป็นไร เพราะกรณีนี้ ทางบัญชีกับทางภาษีจะต่างกันทั้งตัวราคา และวันที่รับรู้รายได้อยู่แล้ว พอสิ้นปีเราก็ทำกระทบยอดรายได้ทางบัญชีกับ ภ.พ.30 ด้วย
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนจะมี 2 วัน คือ วันที่ได้รับเงิน และวันที่เรารับรู้รายได้ แล้วเปรียบเทียบดูว่าที่เราบันทึกเงินมัดจำไว้กับวันที่รับรู้เป็นรายได้ค่าสินค้า เรามีกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งก็ต้องรับรู้เป็นกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยค่ะ