เคยศึกษางบการเงินของบริษัทลีสซิ่งและให้เช่าซื้อรถยนต์แห่งหนึ่งค่ะ แล้วเค้ามี ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ อยากทราบว่าบัญชีนี้ หมายความว่าอย่างไรคะ แล้วกิจการมีการบันทึกบัญชี “ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ” หรือไม่คะ แล้วการที่กิจการนำเอา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ นี้มาหักออกจากลูกหนี้จากการให้เช่าซื้อ ตอนสิ้นงวด หมายความว่าอย่างไรคะ ทำไมต้องเอามาหักออกจากยอดลูกหนี้ด้วย ซึ่งลูกหนี้นั้น คิดจากค่างวดซึ่งรวม VAT แล้ว ขอความช่วยเหลือด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ 🙂
คำตอบ:
ขอตอบเป็นประเด็นดังนี้
1. ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ หมายถึงภาระภาษีมูลค่าเพิ่มอันเกิดขึ้นจากผลประโยชน์จากการทำสัญญาเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง (เช่นดอกเบี้ยเช่าซื้อ) แต่เงื่อนไขภาระภาษีในกรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระเงินในแต่ละงวด (เดือน) เท่านั้น (ไม่ว่าจะได้รับเงินหรือไม่ ผู้ให้เช่าซื้อต้องเสียภาษี)
2. ยกตัวอย่างเช่น กิจการทำสัญญาให้เช่าซื้อรถมูลค่า 660,000 บาท (รวม VAT) โดยผู้เช่าซื้อจ่ายเงินดาวน์ 260,000 บาท และทำสัญญาเช่าซื้อในมูลค่า 400,000 บาท (รวม VAT) ดอกเบี้ย 1.65% ต่อปี ผ่อนชำระ 60 เดือน ๆ ละ 7,216.67 บาท (เป็น VAT 472.12 บาท/เดือนซึ่งจะถือเป็นภาษีที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระจนกว่าจะถึงงวดที่ครบกำหนดจ่ายเงิน กิจการต้องบันทึกรายการดังกล่าวไว้ในงบการเงินดังนี้
ณ วันทำสัญญา
Dr. ลูกหนี้ภายใต้สัญญาเช่าซื้อ 433,000
ภาษีซื้อ (VAT ซื้อที่จะได้จากการจ่ายค่ารถส่วนที่เหลือ) 26,168.22
Cr. เจ้าหนี้ค่าสินค้า (เงินที่ต้องจ่ายให้บริษัทรถ) 400,000
ดอกผลเช่าซื้อรอการรับรู้ (หนี้สิน) 30,841.12
ภาษีขายที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ (หนี้สิน) 28,327.10
ณ วันรับชำระเงิน
Dr. เงินฝากธนาคาร 7,216.67
Cr. ลูกหนี้ภายใต้สัญญาเช่า 7,216.67
และรับรู้รายได้จากดอกผลเช่าซื้อและภาษีขายที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโดย
Dr. ดอกผลเช่าซื้อรอการรับรู้
CR. ดอกเบี้ยรับ
Dr. ภาษีขายที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
Cr. ภาษีขาย
อย่างไรก็ดี สำนักงานขอเรียนให้ทราบว่า วิธีปฏิบัติดังกล่าวเป็นวิธีการบันทึกรายการตามมาตรฐานการบัญชีของสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยนิยมใช้กันมานาน แต่ข้อกำหนดของ NPAE ที่บังคับใช้ในปัจจุบันนั้น (ย่อหน้า 274) กำหนดให้กิจการบันทึกลูกหนี้ภายใต้สัญญาเช่าด้วยเงินลงทุนสุทธิในลูกหนี้ (ยอด 400,000 บาทเท่านั้น) และไม่อนุญาตให้บันทึกดอกผลเช่าซื้อรอการรับรู้และภาษีขายที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไว้ในงบการเงิน ดังนั้น ณ วันสิ้นงวดกิจการจึงต้องกลับรายการทั้ง 2 กับบัญชีลูกหนี้เพื่อการนำเสนองบการเงินทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการแสดงสินทรัพย์และหนี้สินสูงเกินไปทั้ง 2 ด้าน (Overstate) โดยรายการปรับปรุงได้แก่
Dr. ดอกผลเช่าซื้อรอการรับรู้
ภาษีขายที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
Cr. ลูกหนี้ภายใต้สัญญาเช่าการเงิน/เช่าซื้อ